การทำงาน ของ สนิท วรปัญญา

นายสนิท วรปัญญา เริ่มทำงานเป็นพนักงานโครงการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้เข้ารับราชการเป็นเศรษฐกร ประจำกรมวิเทศสหการ กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ จากนั้นอีก 2 ปี ได้โอนมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปี พ.ศ. 2514 ได้โอนมาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในตำแหน่งหัวหน้ากองคลังสินค้า องค์การคลังสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 เข้ามารับราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับ 9 ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย และเป็นรองอธิบดีกรมการค้าภายใน

ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ ระดับ 10 เป็นที่ปรึกษาการพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเป็นอธิบดีในปี พ.ศ. 2531 ในตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน[1] และเป็นอธิบดีกรมการประกันภัยในปีต่อมา กระทั่งปี พ.ศ. 2537 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และได้ทำหน้าที่รักษาการปลัดกระทรวงพาณิชย์ และตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ คือ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก[2]

หลังเกษียณอายุราชการ นายสนิท ได้เข้าสู่งานการเมืองโดยการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดลพบุรี และได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานวุฒิสภา[3] ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาคนแรกของไทยที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป[4][5]

นายสนิท ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใบเหลือง[6][7] ใน 6 ข้อหา คือ แจกเสื้อ แจกเงินให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน แจกเงินให้วัด สัญญาว่าจะให้ประปาหมู่บ้าน สัญญาว่าจะให้ดินลูกรังถมถนนทางเข้าหมู่บ้าน โฆษณาหาเสียง[8] ส่งผลให้นายสนิท วรปัญญา สิ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำให้พ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาด้วย ซึ่งนายสนิท ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ใกล้เคียง

สนิท กุลเจริญ สนิท วรปัญญา สนิท จันทรวงศ์ สนิทชิดเชือด สนิท โกศะรถ ไม่อยากสนิทกับความเหงา บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเรียงตามประเทศหรือดินแดน สิทธิ เศวตศิลา สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย